วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559



บทบาทและหน้าที่ ที่ครูจะต้องทำ
ครูปฐมวัยมีหน้าที่ 4 อย่างคือ การดูแล สนับสนุน แนะนำหรือชี้แนะและอำนวยความ บทบาทของการดูแลคล้ายกับแม่ ซึ่งหน้าที่ด้านการดูแลเด็กคือ การทำหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจของเด็ก เอาใจใส่ต่อความปลอดภัย โภชนาการ สุขภาพ ครูปฐมวัยต้องดูแลความเป็นอยู่ของเด็กปฐมวัยอย่างปกติสุขประกอบด้วยการดูแลการเจริญเติบโต สุขภาพ พัฒนาการและความปลอดภัย
หน้าที่ด้านการศึกษาคือ พัฒนาทักษะพื้นฐานและความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย ให้มีความพร้อมที่จำเป็นสำหรับเด็ก เช่น พัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานและภาษา การช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน การควบคุมพฤติกรรมตนเองอย่างมีเหตุผล พัฒนาทักษะทางสังคม ประสบการณ์พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และสังคม การส่งเสริมดูแลสุขภาพกายและจิตใจ บทบาทของครูปฐมวัยมีผลหรือเรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กใน ทุกด้าน เป็นผู้วางรากฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ที่เห็นได้ง่าย อย่างเช่น การมีสมาธิ ถ้าครูปฐมวัยรู้จักการให้เด็กมีสมาธิด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดินบนคาน การเข้าไปในมุมหนังสือ การทำงานประดิษฐ์ การเล่านิทาน ฯลฯ เด็กได้รับการฝึกดังกล่าว เด็กสามารถที่จะมีสมาธิ โดยรู้จักปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อโตขึ้น เช่น เด็กรู้จักการฟังเนื้อหา เรื่องราวที่ครูพูดและจับใจความได้ เข้าห้องประชุมแล้วรู้จักเงียบ ไม่คุยตลอดส่งเสียงดังขณะประชุม อ่านหนังสือได้เวลานานและเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าวหากไม่ได้รับการฝึกในช่วงปฐมวัยจะยากที่จะฝึกในช่วงเป็นวัยผู้ใหญ่ การมีสมาธิที่ยกตัวอย่างเป็นเพียงเรื่องที่บางคนเห็นว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญ โดยความเป็นจริงแล้วมีความสำคัญและเกี่ยวพันต่อเนื่องกับการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาบุคลิกภาพ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ฉะนั้นครูปฐมวัยเป็นผู้ที่วางรากฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กซึ่งเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องทำและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หยุดยั้งเพราะเด็กเขาจะเติบโตและพัฒนาทุกวินาที


การจัดกิจกรรมสร้างเสริมความรู้ให้กับเด็กปฐมวัย
การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดสาระการเรียนรู้ไว้ ซึ่งประกอบเป็น 2 ส่วน คือ ประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ ทั้งสองส่วนใช้เป็นสื่อกลางในการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยครอบคลุมพัฒนาการเด็ก 4 ด้านดังนี้
  1. ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อเล็ก จากการเขียนภาพและการเล่นสี เช่น กิจกรรมเขียนภาพด้วยสีเทียน สีน้ำ เป่าสี ทับสี ปั้นดินเหนียว ดินน้ำมัน งานประดิษฐ์จากเศษวัสดุ เป็นต้น
  2. ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ เป็นประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ เด็ก
    มีโอกาสชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม เช่น กิจกรรมเขียนภาพตามความคิดสร้างสรรค์ แสดงความคิดเห็นต่อผลงานศิลปะ ฯลฯ
  3. ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม เป็นประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้ทางสังคม ด้วยการเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการวางแผน ตัดสินใจเลือกและลงมือปฏิบัติ ให้เด็กมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึก ความสนใจ ความต้องการของตนเองและผู้อื่น เช่น การเลือกทำกิจกรรมศิลปะตามความสนใจ การฟังความคิดเห็นของเด็กคนอื่น การรู้จักรอคอยที่จะใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น การรู้จักแบ่งปันวัสดุ ของใช้ เป็นต้น
  4. ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นประสบการณ์ที่ส่งเสริมความคิดของเด็ก เกี่ยวกับการรับรู้ และการแสดงความรู้ผ่านสื่อ วัสดุ และผลงาน เช่น การวาดภาพ ระบายสี ปั้นดิน ประดิษฐ์ ส่งเสริมด้านการใช้ภาษาและด้านการเขียนในหลายรูปแบบผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายต่อเด็ก และการสื่อความหมายของมิติสัมพันธ์ด้วยภาพวาด เช่น การให้เด็กเขียนภาพนิทาน วาดภาพด้วยสีเทียน สีน้ำ เป็นต้น